Saturday, April 30, 2011

สวัสดีชาวโลก

ผมเป็นคนหนึ่งที่ใช้ระบบปฏิบัติการลินุกซ์ในชีวิตประจำวันเป็นหลัก ไม่ว่าอยู่ที่บ้าน หรือ ที่ทำงาน แต่ก็มีการใช้งาน Windows และ MacOSX บ้างในบางครั้ง เนื่องด้วยเหตุผลบางประการดังนี้:

ใช้ Windows เพราะ
  • เพื่อน ร่วมงานใช้โปรแกรม Microsoft Office ในการทำเอกสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Words, Microsoft Excel หรือ Microsoft PowerPoint
  • ต้องใช้โปรแกรมชื่อ Toad for Oracle ซึ่งเป็น GUI Oracle Client ที่ดีตัวหนึ่ง ซึ่งผมยังหาตัวที่ใช้ทดแทนกันได้ในลินุกซ์ไม่พบ (ในลินุกซ์มีโปรแกรมที่ทำเลียนแบบมาชื่อ Tora ซึ่งติดตั้งลำบากเกินไปสำหรับผม และไม่รองรับ Oracle11g ณ ขณะเวลาที่เขียน blog นี้อยู่)
  • ต้องใช้ Microsoft Outlook ในเวลาที่ผมจำเป็นต้องจัดการ Exchange Rules ต่างๆ ซึ่ง Microsoft Exchange Server เท่าที่ผมค้นหาข้อมูลมา อนุญาติให้ผู้ใช้ทำการตั้งค่าต่างๆ ใน Exchange Server ได้ผ่านทาง Microsoft Outlook หรือ Microsoft Entourage (for MacOSX) เท่านั้น (น่าเศร้าจริงๆ)
  • ต้องใช้ Internet Explorer สำหรับทำการทดสอบเว็บไซต์ให้ลูกค้าที่ใช้ Internet Explorer
ใช้ MacOSX เพราะ
  • จะได้ไปนั่งที่ร้านกาแฟ Starbucks ได้ไม่อายชาวบ้าน
  • คิดถึงคนใกล้ชิดที่ต้องมาใช้คอมพิวเตอร์ของผม MacOSX นั้นใช้งานง่าย ดูเว็บที่มี flash ได้เป็นปกติ และ รองรับ hardware ต่างๆ มากมาย ผมเลยคิดว่าคงต้องมีเอาไว้ให้คนใกล้ชิดได้ใช้บ้าง เนื่องจากว่าหากใช้ลินุกซ์ แล้วเกิดมีปัญหากับ flash หรือ hardware ต่างๆ จะโดนด่าได้ อีกทั้ง MacOSX นั้นเป็น ระบบแบบเดียวกับ unix เลยมีความสเถียร และปลอดภัย สูง ทำให้ผมไม่ต้องมานั่งลงระบบปฏิบัติการใหม่เป็นระยะๆ หรือ มานั่งปวดหัวกับ ไวรัส เหมือนสมัยที่ใช้ Windows
ผมรู้จักลินุกซ์เป็นครั้งแรกเมื่อสมัยที่ NECTEC กำลังโปรโมท LinuxTLE (ลินุกซ์ทะเล) ซึ่งได้นำ Redhat Linux มาปรับแต่งให้ใช้งานภาษาไทยได้โดย default ซึ่งเป็นจังหวะเวลาที่ผมกำลังอ่านหนังสือเกี่ยวกับ unix อยู่ และต้องการหาระบบ unix มาทดสอบการใช้งานที่บ้าน ตอนนั้นความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ของผมน้อยมาก ผมไม่รู้เลยว่าเราสามารถดาวน์โหลด Linux ได้จาก Internet ผมจึงเดินทางไปพันธ์ทิพย์พลาซ๋าเพื่อซื้อแผ่น LinuxTLE

เมื่อกลับมาถึงบ้าน ผมก็รีบทำการติดตั้งตามคู่มือที่อุตส่าห์ไปซื้อหนังสือมาอีกเล่ม (ราคาเป็นร้อย หรือสองร้อยบาท) แต่ปรากฎว่าผมเจอกับ _kernel panic_ ใน error message ที่เกิดขึ้นระหว่างการติดตั้ง ซึ่งทำให้ผมเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง เรียกว่า มืดแปดด้านเลยทีเดียว จากวันนั้นผมก็หยุดความพยายามที่จะใช้ลินุกซ์ไป... (ซึ่งสืบทราบต่อมาในภายหลังว่าไอ้แผ่นที่ผมซื้อมามันเสีย)

ในระหว่างที่ยังไม่มีลินุกซ์ใช้นั้น ผมก็ได้แต่เรียนรู้ unix ผ่านทาง server ของมหาวิทยาลัยที่เรียนอยู่ซึ่งเป็น Sun Solaris ไปพลางๆ ยิ่งลองก็ยิ่งพบว่ามันช่างงดงาม มีเหตุมีผลเสียเหลือเกิน และเริ่มสงสัยกับการคงอยู่ของ Windows 98/ME/XP

มาได้พบกับลินุกซ์อีกครั้งหนึ่งก็อีกประมาณสองปีหลังจากนั้นเนื่องจากได้มีโอกาสไปช่วยงานองค์กรแห่งหนึ่งซึ่งเขาใช้ลินุกซ์กันอยู่ เราจึงได้ผลพลอยได้เป็นแผ่น Mandrake Linux ที่ไม่เสีย มา และทำการ install ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก (Mandrake กับ Redhat ก็ไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่ ในความเห็นของผม) ซึ่ง window manager ในขณะนั้นก้อมี kde และ gnome ให้เลือกใช้แล้ว แต่อารมณ์ผมก็ยังไม่สู้ดีนัก เนื่องจาก RPM (Redhat Package Manager) ในขณะนั้น เป็นอะไรที่ผมไม่ชอบอย่างมาก จะติดตั้งโปรแกรมอะไรก็ยุ่งยากไปหมด เนื่องจากติดปัญหาเรื่อง package dependencies ต่างๆ ซึ่ง rpm ไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองได้ ทำให้เราต้องไปค้นหา rpm ที่มัน required มา install ตามลำดับ มันถึงจะพอใจ

จากนั้นก็ได้ทราบว่าไอ้ distro ของ linux ทั้งหลายนั้นสามารถดาวน์โหลดได้ใน Internet ซึ่งทำให้ผมได้มีโอกาสลอง อีกหลายเจ้า เช่น Redhat, Mandrake, Debian, YellowDog (สำหรับ PowerPC), Ubuntu และ FreeBSD (ไม่ใช่ linux)

ซึ่งหลายคนคงไม่แปลกใจหากผมจะบอกว่า distro ที่ดูจะเหมาะเหม็งที่สุดนะขณะนั้น (ประมาณสี่ถึงห้าปีที่แล้ว) ก็เห็นจะเป็น ubuntu linux ซึ่งลอกแบบมาจาก debian แต่มีการปรับแต่งให้ user friendly มากกว่า และมี package manager แบบ gui ทำให้ใช้งานสะดวกสำหรับผู้ใช้ที่นียม gui หรือ มือใหม่หัดขับ (ผู้นิยม gui ไม่จำเป็นต้องเป็นมือใหม่หัดขับ อย่างเช่น mr linus torvalds เองก็ชอบใช้ kde และมีความเชื่อส่วนตัวของเขาที่ว่า โปรแกรมที่ดีต้องสามารถปรับแต่งได้ด้วย gui) และแล้วผมก็กลายเป็นแฟนของ ubuntu linux อยู่เป็นเวลากว่าสองปีด้วยกัน

to be continued



Blogged with the Flock Browser

0 comments:

Post a Comment